หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

มาลาเรียสายพันธุ์ใหม่' จาก 'ลิง' สู่ 'คน'

จากกรณีที่พบผู้ป่วยโรคมาลาเรีย สายพันธุ์ใหม่ ในประเทศไทย ปี 2552 จำนวน 3 ราย คือ จันทบุรี 1 ราย และ ยะลา 2 ราย โดยตรวจพบเชื้อ “พลาสโมเดียม โนวซี่” (Plasmodium Knowlesi) ซึ่งเดิมเชื้อนี้มีอยู่ในลิง แต่กลับติดต่อและทำให้เกิดโรคในคนได้ คงจะทำให้ผู้อ่านอยากรู้รายละเอียดโรคนี้มากขึ้น
โรคมาลาเรีย เป็นโรคติดต่อ มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ เกิดจากเชื้อ “พลาส โมเดียม” ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเป็นสัตว์เซลล์เดียว มีวงจรชีวิตอยู่ทั้งในสัตว์มีกระดูกสันหลังและสัตว์จำพวกยุง
“พลาสโมเดียม โนวซี่” เป็นเชื้อมาลาเรียชนิดที่ 5 ทำให้เกิดไข้มาลาเรียในลิงแสม และลิงกัง เป็นส่วนใหญ่ และเริ่มมีรายงานพบในคน โดยในประเทศมาเลเซียมีรายงานพบในรัฐซาราวัก ซาบา และปาหัง ในปี 2544-2549 มีผู้ป่วย 266 ราย จากการตรวจทั้งหมด 960 ราย นอกจากนั้น ยังมีรายงานผู้ป่วยประปรายที่ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า
ในประเทศไทย เคยพบเชื้อมาลาเรีย “พลาสโมเดียม โนวซี่” โดยบังเอิญในปี 2543 โดย รศ.นพ.สมชาย จงวุฒิเวศย์ หัวหน้าภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะทำการย้อมเลือดของผู้ป่วยที่เป็นโรคมาลาเรียเพื่อที่จะนำมาพัฒนาชุดตรวจ ดีเอ็นเอ ปรากฏว่าได้ผลเป็นลบ เมื่อตรวจสอบจึงทราบว่าไม่ใช่มาลาเรียใน 4 ชนิดที่เกิดจากยุงก้นปล่องที่พบในบ้านเรา แต่เป็นชนิดที่ 5 คือ มาลาเรียลิง ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ “พลาสโมเดียม โนว ซี่” โดยมาลาเรียลิงมีประมาณ 20-30 ชนิด แต่ที่ก่อให้เกิดโรคในคนมีประมาณ 5 ชนิด
สำหรับกลุ่มที่ต้องระวังตัวเป็นพิเศษ คือ ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณแนวชายแดนไทย-พม่า ไทย-กัมพูชา และไทย-มาเลเซีย เพราะมีโอกาสที่จะถูกยุงก้นปล่องกัดและแพร่เชื้อมาลาเรียได้ ดังนั้นหากอยู่ในพื้นที่ หรือเข้าไปในบริเวณป่าเขา ขอให้ระมัดระวังป้องกันตัวเองอย่าให้ถูกยุงกัด นอนในมุ้ง ทายากันยุง สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด หากมีไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะ หลังกลับออกจากป่าหรือพื้นที่ที่มีการ ระบาดของโรค ขอให้นึกถึงโรคมาลาเรียไว้ก่อน และรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่าด้วย เพื่อตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรียและให้ยารักษาที่ตรงกับเชื้อ ซึ่งขณะนี้ยาที่ใช้รักษายังได้ผลดี แต่ผู้ป่วยจะต้องกินยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง เพื่อให้รักษาหายขาดและไม่มีปัญหาเชื้อดื้อยาตามมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น